โรค ไส้เลื่อนขาหนีบที่มีภาวะแทรกซ้อน (Complicated Inguinal Hernia) เกิดจากอะไร และวิธีการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร


เขียนโดย
ไส้เลื่อนขาหนีบที่มีภาวะแทรกซ้อน คุณผู้ชายควรอ่านไว้ก่อน!
ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม และทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลังเช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ เบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก โดยภาวะไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามบริเวณตำแหน่งการเกิดโรคที่พบได้บ่อยดังนี้
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernias) โดยลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบมักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วง ๆ หรือ อาการปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นหรือเห็นได้ชัดหากออกกำลังกาย หรือเกิดอาการ ไอ จาม
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical hernias) คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นลักษณะเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ
- ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด (Incisional hernias) เป็นที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณช่องท้องมาก่อนทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องในบางกรณี
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernias) โอกาสในการเกิดไส้เลื่อนในบริเวณนี้จะน้อยกว่าบริเวณขาหนีบ เกิดอาการปวดบริเวณต้นขา และอาจมีอาการปวดที่ขาหนีบร่วมด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีภาวะไส้เลื่อนบริเวณอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ หรือไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องเช่นกัน ไส้เลื่อนขาหนีบที่มีภาวะแทรกซ้อน (Complicated Inguinal Hernia) เป็นคำเรียกรวมของภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อนขาหนีบ เกิดจากการที่ไส้เลื่อนที่เคลื่อนตัวออกมา ติดคาอุดตันไม่สามารถกลับเข้ารูเปิดที่ออกมาได้ (Incarcerated hernia) จนทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงไส้ส่วนปลายที่หลุดออกมาจนเกิดการเน่าตาย (Strangulated hernia)
อาการของโรค
อาการหลักของโรคไส้เลื่อนคือคลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค เช่น ในกรณีของผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบจะมีก้อนนูนด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกเชิงกรานหรือขาหนีบ และถ้านอนลงจะสามารถดันให้กลับเข้าไปในช่องท้องได้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดบริเวณก้อนโดยเฉพาะ ขณะก้มตัว ยกสิ่งของ และไอจาม หรือมีอาการอัณฑะบวมและปวด เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อนขาหนีบ คือ ไม่สามารถดันกลับได้ ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
- ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
- ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลมร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรค
แพทย์วินิจฉัยโรคไส้เลื่อน จากการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยจะตรวจทั้งในท่านอน ท่ายืน และใ ห้ผู้ป่วยออกแรงเบ่ง ซึ่งการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก สิ่งที่สำคัญคือ การให้การวินิจฉัยว่าไส้เลื่อนที่ตรวจพบเกิดภาวะติดคาขึ้นหรือไม่ รวมทั้งไส้เลื่อนที่ติดคาเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงหรือยัง โดยอาศัยจากอาการและการตรวจร่างกายร่วมกัน ในกรณีที่ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นไส้เลื่อนหรือไม่อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์ช่วยในการตรวจวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน ซึ่งมักคลำไม่ได้ก้อน แต่จะมีอาการของลำไส้อุดตันเป็นๆ หายๆ
แนวทางการดูแลรักษา
- ผู้ป่วยที่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated hernia) การรักษาในขั้นแรกคือ การพยายามนำไส้เลื่อนที่ติดคาให้เคลื่อนที่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิม ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ป่วยนอนราบ ให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อและยานอนหลับ แล้วใช้นิ้วมือพยายามดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ช่องท้อง หากทำได้สำเร็จ ก็จะนัดผู้ป่วยมาผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดการติดคาซ้ำได้อีกทุกเมื่อ แต่หากทำไม่สำเร็จ ต้องรีบผ่าตัดโดยฉุกเฉิน เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงและลำไส้เน่าตายตามมาได้
- ผู้ป่วยไส้เลื่อนที่เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง (Strangulated hernia) ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยเวลานับตั้งแต่ลำไส้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงจนกระทั่งลำไส้เน่าตาย และทำให้ต้องตัดลำไส้ทิ้งไปคือประมาณ 6 ชั่วโมง
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
ศัลยแพทย์, ศัลยแพทย์เด็ก กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีอาการของไส้เลื่อนขาหนีบที่มีภาวะแทรกซ้อนควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงและสามารถทำให้เกิดการเน่าตายของลำไส้ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/456_49_1.pdf