โรค ริดสีดวงทวาร ที่มีภาวะแทรกซ้อน (Strangulated/Thrombosed Hemorrhoids) เกิดจากอะไร และวิธีการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร


เขียนโดย
ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
ริดสีดวงทวาร หมายถึง การมีกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพองและยื่นออกมา แบ่งเป็น 2 ชนิด
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไปตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และ คลำไม่ได้และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุด จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
- ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็น และ คลำได้หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก สาเหตุของโรคริดสีดวงทวารโรคริดสีดวงทวารยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเกิด แต่มีความเกี่ยวข้องกับแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมหรือนูนจากแรงดันที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการท้องผูก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือแม้แต่เนื้อเยื่อที่รองรับเส้นเลือดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนักเกิดการเสื่อมหรือขยายตัว ริดสีดวงทวารที่มีภาวะแทรกซ้อน คือเกิดเส้นเลือดขอดบริเวณทวารหนักจนทำให้เกิดหลอดเลือดบวม และ มีการจับตัวเป็นลิ่มเลือด และ กลายเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า ภาวะธรอมโบซิส (Thrombosis) และ ไม่สามารถดันกลับได้ด้วยตัวเอง
อาการของโรค
อาการของริดสีดวงทวารสามารถแบ่งได้ 4 ระยะด้วยกัน ซึ่งอาการของริดสีดวงทวารที่มีภาวะแทรกซ้อนก็คือระยะที่ 4 นั่นเอง ดังนี้ ระยะที่ 1 - มีเส้นเลือดดำโป่งพอง ในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้าท้องผูกเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น ระยะที่ 2 - อาการมากขึ้น หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้นเริ่มโผล่ออกมาพ้นทวารหนักแล้วเล็กน้อย เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็นมากขึ้นแต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง ระยะที่ 3 – อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เวลาถ่ายอุจจาระหัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอยกสิ่งของหนัก ๆ ที่ความเกร็ง เบ่งในท้องเกิดขึ้นหัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือดันๆ เข้าไปถึงจะเข้าไปอยู่ภายในทวารหนักได้ ระยะที่ 4 - ริดสีดวงกำเริบมาก โตมากขึ้น มองเห็นได้จากภายนอกอย่างชัดเจนเกิดอาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน รุนแรงมาก มีเลือดออกมาเสมอ อาจมีน้ำเหลืองเมือกลื่น และ อุจจาระก็ยังตามออกมาอีกด้วยทำให้เกิดความสกปรก และ มีอาการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันด้วย บางทีอาจเน่าและอักเสบมากยิ่งขึ้น การติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย และ เมื่อเลือดออกมาเรื่อย ๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง จะเกิดอาการหน้ามืด
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยใช้การซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลักถ้าเป็นริดสีดวงชนิดภายนอกและริดสีดวงทวารที่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถตรวจพบได้ทันที แต่ในกรณีที่เป็นริดสีดวงชนิดภายใน อาจจะต้องมีการตรวจทางทวารหนักด้วยการใช้นิ้วสอดและการส่องกล้องพิเศษประเภทอื่น ๆ เพื่อหาความผิดปกติและวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องเช่น
- เอโนสโคป (Anoscope)
- พรอคโตสโคป (Proctoscope)
- กล้องส่องลำไส้ส่วนซิกมอยน์ (Sigmoidoscopy)
แนวทางการดูแลรักษา
- ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินผักผลไม้มาก ๆ ถ้ายังท้องผูกอาจจะพิจารณาการทานยาระบาย
- ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาให้ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก
- ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกข้างนอกให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่นแล้วดันหัวกลับเข้าไป
- ถ้าเป็นมากอาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไป
- ใช้ยางรัด ทำให้หัวฝ่อ
- ใช้แสงเลเซอร์รักษา
- รักษาโดยการผ่าตัด
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ศัลยแพทย์เด็ก กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคริดสิดวงทวารที่มีภาวะแทรกซ้อน ตามกล่าวข้างต้นควรพบแพทย์ทันที
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.rcst.or.th/web-upload/filecenter/CPG/Hemorrhoid.html