โรค กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม (Lumbar spondylosis) เกิดจากอะไร และวิธีการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร


เขียนโดย
ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) เป็นอาการที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพ ส่งผลให้กระดูกสันหลังขาดความยืดหยุ่นและติดแข็งมากขึ้น ที่พบได้มากที่สุดคือบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอและบั้นเอว กระดูกสันหลังเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เมื่อกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นจะสามารถทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังตีบแคบลงได้ (Lumbar spinal stenosis) ซึ่งสามารถทำให้มีอาการกดทับเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลังทำให้มีอาการอ่อนแรงขา ตามส่วนที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง หรือทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือกรณีที่รากประสาทถูกกดทับ (Lumbar radiculopathy) จากผลของการเสื่อมกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทนั้นได้เช่นเดียวกัน สาเหตุของกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม คือการที่กระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จากการที่กระดูกสันหลังโค้งงอเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง และเสียความยืดหยุ่นไป ยกตัวอย่างเช่น การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม พอลุกจากเก้าอี้กระดูกสันหลังจะถูกทำให้ตรงในทันทีจึงทำให้เกิดการเสียดทานขึ้น ร่างกายจึงสร้างกระดูกงอกออกมาจากข้อต่อเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งกระดูกที่งอกขึ้นมานั้นมีขนาดใหญ่เกินไปจนเบียดกับเส้นประสาทและไขสันหลังทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งมักพบทั่วไปในผู้สูงอายุ
อาการของโรค
อาการของกระดูกสันหลังเสื่อมจะปรากฎอาการปวดหลังแบบเป็นๆหายๆ บางรายอาจปวดเรื้อรัง หรือในบางครั้งอาการปวดอาจจะรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อาการอื่นมีดังนี้
- ปวดบั้นเอว
- กระดูกสันหลังติดแข็งและขยับตัวลำบาก
- ขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมีอาการชา อ่อนแรง หรือเหน็บชา
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ค่อยอยู่
- ในกรณีที่มีการกดเบียดเส้นประสาทรุนแรง จะทำให้เดินลำบาก เดินแล้วไม่สมดุล ไม่มั่นคงเหมือนจะหกล้ม โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได
แนวทางการดูแลรักษา
การรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด รวมทั้งให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอาจรักษาโดยใช้วิธีอื่น ดังนี้
- การใช้ยา เช่นยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น รวมทั้งอาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- การทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยลดอาการปวด
- การประคบเย็นหรือประคบร้อน ทำได้โดยใช้แผ่นประคบเย็นหรือร้อนวางบริเวณคอเพื่อลดอาการเจ็บปวด แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเสมอ
- การฉีดยา แพทย์จะฉีดสารสเตียรอยด์และยาแก้ปวดเข้าไปยังข้อต่อคอที่มีอาการปวดหรือบริเวณใกล้ ๆ กับกระดูกสันหลัง
- การผ่าตัดมีหลายประเภท เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังหรือการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกกสันหลังเทียม มักแนะนำวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่รุนแรง เช่น ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของเส้นประสาทถูกกดทับได้แก่ กล้ามเนื้อขาลีบ ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ, กุมารแพทย์ โรคข้อ กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
หากมีอาการของภาวะกระดูกเสื่อมที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กระดูกสันหลังเสียหายอย่างถาวร
- อาการปวดรุนแรงขึ้น
- การควบคุมหรือประสานงานกันของร่างกายผิดปกติ เช่น เดินลำบาก เดินแล้วไม่สมดุล ไม่มั่นคงเหมือนจะหกล้ม เป็นต้น
- มีอาการอ่อนแรงหรือรู้สึกหนักที่ขา
- มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://med.mahidol.ac.th/surgery/sites/default/files/public/pdf/Back%20pain.pdf