โรค ภาวะบวมของเนื้อเยื่อจากการแพ้ (Angioedema) เกิดจากอะไร และวิธีการรักษาเบื้องต้นเป็นอย่างไร


เขียนโดย
ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
Angioedema (แองจีโออีดีมา) เป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง อาจมีผื่นบวมนูนคล้ายลมพิษ แต่มีขนาดใหญ่และมีอาการรุนแรงกว่า เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ สาเหตุของโรคเหมือนกับสาเหตุของโรคลมพิษ คือ
- อาหาร เช่น อาหารทะเล ถั่วลิสง ไข่ นม
- ยา ที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่ penicillin, aspirin, ibuprofen , naproxen และยาลดความดันโลหิต
- สารก่อภูมิแพ้ ที่พบบ่อยได้แก่ เกสรดอกไม้ พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อน ความเย็น การออกกำลัง ความเครียด
- โรคประจำตัว เช่น การได้รับการถ่ายเลือด โรคแพ้ภูมิตัวเอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคของต่อมไทรอยด์
- กรรมพันธุ์
อาการของโรค
อาการหลัก คือ การบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนัง มักพบบ่อยบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก มือ เท้า และอวัยวะเพศ อาการบวมมักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมีความรุนแรงกว่าภาวะลมพิษมาก บริเวณที่บวมอาจมีอาการคัน หรือไม่คันก็ได้ อาจมีอาการเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มแทงบริเวณนั้นได้ด้วย ผิวหนังจะมีสีปกติ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการลมพิษร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผิวหนังบริเวณข้างเคียงมีสีแดงและเป็นปื้นนูนได้ นอกจากอาการบวมแล้ว แองจิโออีดีมายังสามารถก่อให้เกิดอาการอื่นๆ เช่น รู้สึกร้อนหรือเจ็บปวดบริเวณที่บวม กลืนอาหารลำบาก ลิ้นบวม และเยื่อบุตาบวม แต่พบได้ไม่บ่อย
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรค
แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากประวัติอาการ ประวัติการแพ้สิ่งต่างๆ การใช้ยาหรือสมุนไพรของผู้ป่วย ประวัติการเกิดผื่นหรืออาการแพ้ของคนในครอบครัว และการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดภาวะบวมของเนื้อเยื่อนี้ ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อหาปัจจัยตัวกระตุ้นอาการ มีวิธีหลักๆที่ใช้อยู่ 2 วิธี คือ
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ทดสอบโดยหยดสารก่อภูมิแพ้ที่ท้องแขนของผู้ป่วยและสะกิดผิวหนังบริเวณนั้น หากผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะทำให้เกิดตุ่มบวมแดงขึ้นมาภายใน 15 นาที วิธีนี้มีความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายไม่สูง ซึ่งผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านฮิสทามีนมาก่อนรับการทดสอบ เพื่อป้องกันผลลัพธ์คลาดเคลื่อน
- การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า C1 Esterase Inhibitor ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะช่วยให้คำตอบถึงสาเหตุของโรคได้เพิ่มเติม
แนวทางการดูแลรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง แพทย์จะให้ใช้ยาเพื่อลดอาการคันและบวม เช่น ยาต้านฮิสทามีน ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาอิพิเนฟริน และยาสูดพ่นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ ส่วนผู้ป่วยที่อาการบวมเกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ยานั้น ๆ และเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นแทน
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
แพทย์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน, อายุรแพทย์ผิวหนัง, กุมารแพทย์ ภูมิแพ้และระบบภูมิคุ้มกัน กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
ส่วนใหญ่ Angioedema ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และจะหายไปได้เองภายใน 1-3 วัน แต่หากเกิดอาการแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หรือความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเป็นอาการแสดงของภาวะแพ้แบบรุนแรง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนเพื่อทำการรักษา มิเช่นนั้นอาการอาจรุนแรงขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.allergyasthmathailand.com/allergyd.htm https://dermnetnz.org/topics/angioedema/