ข้อมูลโรคและสาเหตุการเกิดโรค
ภาวะจิตเภท เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี หรือช่วงปลายวัยรุ่น โรคนี้พบได้ ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร สาเหตุการเกิดโรคเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คือ
- ด้านร่างกาย จากความผิดปกติของสมอง ทั้งจากสารสื่อประสาทในสมอง หรือจากโครงสร้างของสมองบางส่วนผิดปกติไป นอกจากนั้นพันธุกรรมก็มีส่วนสัมพันธ์ ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากยิ่งมีโอกาสสูง
- ด้านจิตใจ จากความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย การใช้อารมณ์กับผู้ป่วย การตำหนิ มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรหรือจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากไปก็มีผลต่อการกำเริบของโรคได้
อาการของโรค
อาการของภาวะจิตเภท แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อาการที่เพิ่มไปจากคนปกติ (positive symptom) และอาการที่พร่องไปจากคนปกติ (negative symptom)
โดยอาการของโรคอาจเกิดในแบบเฉียบพลันทันที หรือเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ในกรณีที่อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการเริ่มต้นคือ มีความรู้สึกแปลกๆ ไม่อยู่ในความเป็นจริง อาการจะค่อยๆมากขึ้นทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากบุคลิกภาพเดิม เช่น แยกตัว ไม่สุงสิงกับใคร ระแวงคนอื่น มีปัญหาการนอนหลับ มีปัญหาในการรับผิดชอบหน้าที่การงานการเรียน ไม่สนใจดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว เป็นต้น
กลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติ (positive symptoms) ได้แก่
- ความคิดหลงผิด เป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ระแวงว่าจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนส่งกระแสจิตได้
- การเรียบเรียงความคิดผิดปกติ ทำให้คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ ผู้ป่วยมักพูดไม่เป็นเรื่องราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล
- ประสาทหลอน ที่พบบ่อย คือ หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดต่อว่า ข่มขู่ หรือพูดสั่งให้ทำตาม หรืออาจมีการเห็นภาพหลอน มองเห็นวิญญาณ เป็นต้น
- มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น โวยวาย ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น หัวเราะหรือร้องไห้สลับกันเป็นพักๆ
กลุ่มอาการที่พร่องไปจากคนปกติ (negative symptoms) ได้แก่
- เก็บตัว ซึม ไม่อยากพบปะผู้คน แยกตัวเอง
- ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย และสุขอนามัย ปล่อยตัวสกปรก
- ไม่มีความคิดริเริ่ม เฉื่อยชาลง ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆได้ทั้งวัน ผลการเรียนหรือการทำงานตกต่ำ
- พูดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะตอบ พูดจาไม่รู้เรื่อง การแสดงออกทางอารมณ์ลดลงมาก ไร้อารมณ์ มักมีสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอาการยินดียินร้าย
ในระยะอาการกำเริบ อาการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการ positive symptoms ส่วนกลุ่มอาการ negative symptoms มักพบในระยะหลังของโรค หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการซักถามอาการจากทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยจะซักประวัติครอบคลุมตั้งแต่ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและอาการที่เกิดขึ้น สภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วย ความเครียด ระยะเวลาที่เริ่มสังเกตอาการป่วย สิ่งกระตุ้นอาการ การใช้สารเสพติด โรคทางกายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการทางจิต รวมไปถึงประวัติการป่วยเป็นโรคจิตเวชในครอบครัว
แนวทางการดูแลรักษา
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่าการปล่อยไว้นานจนเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยการรักษาหลักจะประกอบไปด้วย
- การใช้ยา เพื่อควบคุมอาการและลดการกำเริบซ้ำของโรค
- การฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยฝึกการเข้าสังคมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย
- การทำจิตบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น
- ครอบครัวบำบัด โดยแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องโรคและสิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย
- กลุ่มบำบัด เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีเพื่อนคอยสนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตนั้นต้องการความรักและความเข้าใจจากครอบครัว คนใกล้ชิด และสังคม เมื่อผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดูแลตนเองได้ เข้าสังคม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์เฉพาะทางแนะนำ
จิตแพทย์, จิตแพทย์เด็ก กรณีอายุน้อยกว่า 15 ปี
ข้อควรระวัง
- หลักการที่ครอบครัวควรทำ คือ กระตุ้นแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเอง ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ โดยไม่ใช้การบังคับ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เพราะความเครียดมีส่วนทำให้โรคจิตเภทกำเริบได้
- พยายามเข้าใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน จึงควรให้อภัยไม่ถือโทษผู้ป่วย ไม่ควรโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต รวมทั้งเสนอความ ช่วยเหลือด้วยความอดทน
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.manarom.com/blog/schizophrenia.html
https://www.bangkokhospital.com/content/schizophrenia